สุนทรียภาพของแสงและเงา ที่เติมเต็มมิติให้บ้านอบอุ่นและน่าอยู่อาศัยในแบบของ ANONYM Studio

องค์ประกอบธรรมชาติอย่างแสงและเงา เป็นสิ่งช่วยทำให้เค้าโครงทางสถาปัตยกรรมมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับพื้นที่อยู่อาศัยแบบ Multi - Functional Space ในปัจจุบัน ที่เจ้าของบ้านใช้งานพื้นที่เป็นทั้งสถานที่ทำงานและสถานที่พักผ่อนไปในเวลาเดียวกันแล้ว แสงและเงาที่ลอดผ่านฟาซาดหรือแนวระเบียงเข้าสู่ภายในบ้าน จึงมีความสำคัญต่อไลฟ์สไตล์ของมนุษย์มากยิ่งขึ้น แต่องค์ประกอบเหล่านี้จะเติมเต็มให้บ้านน่าอยู่ขึ้นได้อย่างไร สองสถาปนิกผู้ก่อตั้ง ANONYM Studio อย่าง บอย - พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ และ ปาน - ปานดวงใจ รุจจนเวท ก็พร้อมมาแชร์มุมมองของพวกเขาให้เราฟังแล้ว


“ DECAAR FACADE DECODING ”

บ้าน ภายใต้การออกแบบของ ANONYM เป็นบ้านที่เต็มไปด้วยบรรยากาศที่น่าอยู่อาศัย และความอบอุ่นแสงธรรมชาติ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สองสถาปนิกสนใจ คุณปานมองว่าแสงและเงาเป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับงานสถาปัตยกรรมอยู่แล้ว แต่พวกเขาให้ความสำคัญกับแสงมากยิ่งขึ้นเพราะธรรมชาติเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ “พวกเราอยากให้บ้านพักอาศัยที่เราออกแบบมีพื้นที่ว่าง และเมื่อมีพื้นที่ว่างไม่ว่าจะเป็นทั้งสเปซภายในหรืองาน Landscape เราจะเอานำแสงและเงาเข้ามามีบทบาทกับบ้าน เพื่อสร้างการอยู่อาศัยที่ดีขึ้น” คุณบอยเสริม

เมื่อเข้าไปใช้งานแล้ว เจ้าของบ้านก็จะสัมผัสได้ถึงสายสัมพันธ์บางอย่างระหว่างตัวเองกับธรรมชาติภายนอก ที่เกิดขึ้นมาจากการดึงเอา Element of light and Shadow มาเป็นส่วนร่วมหนึ่งในการใช้ชีวิตของมนุษย์ พร้อมความรู้สึกร่วมที่มีต่อสถาปัตยกรรม และการรับรู้ถึงช่วงเวลาที่แตกต่าง ซึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงของแสงที่ลอดผ่านช่องแสงตลอดทั้งวัน

ฟาซาดที่ทำหน้าที่เป็นช่องแสง จึงถูกมองเป็นเรื่องเดียวกันกับงานออกแบบสถาปัตยกรรมในมุมมองของพวกเขา ทั้งสองจึงมีการใช้งานฟาซาดสำหรับที่อยู่อาศัยอยู่เสมอ ทั้งการเปิดมุมมองบางส่วน การเปิดเพื่อรับแสงเงา หรือการปิดเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว ผ่านรูปแบบการใช้งานและวัสดุที่หลากหลาย อย่างเช่นในโปรเจกต์บ้านสายลม ที่มีการก่อกำแพงอิฐช่องลมด้านหน้าอาคารเกือบทั้งสี่ชั้น เปิดรับแสงเพื่อสร้างเงาที่มีความพิเศษแตกต่างกันออกไปตามแต่ละช่วงเวลา

อีกหนึ่งรูปแบบฟาซาดสำหรับงานแสงและเงาที่น่าสนใจคือการสร้างฟาซาดลายฉลุภายในโปรเจกต์บ้านวิภา 41 สองสถาปนิกเล่าว่าพวกเขามีการศึกษาลายฉลุที่เจ้าของบ้านสนใจ และสร้างแพทเทิร์นของลายฉลุแบบพิเศษขึ้นมา ก่อนจะ Laser Cut แล้วนำมาติดตั้งเป็นฟาซาดที่ช่วยสร้างมิติของแสงที่น่าสนใจให้กับบ้าน พร้อมสะท้อนความเป็นเจ้าของบ้านผ่านเงาที่ตกกระทบ จึงเห็นได้ว่าฟาซาดไม่ได้ถูกใช้เป็นเพียงแค่ช่องเปิดเท่านั้น แต่มันยังมีบทบาทในการสะท้อนตัวตนหรือใช้เพื่อถ่ายทอดข้อความบางอย่างของผู้ใช้งานได้ด้วยเช่นกัน

วัสดุตกแต่งสำหรับ Facade Solution ที่จะตอบความต้องการของทั้งสองได้จึงต้องมีความหลากหลาย เพื่อตอบรับกับตัวตนและไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะกับคุณสมบัติเรื่องความคงทน เพราะบ้านเป็นสถาปัตยกรรมที่จะอยู่ต่อไปอีกนานหลายสิบปี วัสดุตกแต่งจึงต้องแข็งแรงและก้าวข้ามผ่านกาลเวลาไปได้ด้วย เช่นเดียวกันกับ Feeling & Sense ที่วัสดุจะมอบให้ เพราะบ้านไม่ใช่แค่เพียงโครงสร้างเปลือยเปล่าที่แข็งทื่อเท่านั้น แต่มันยังมีส่วนสำคัญต่ออารมณ์ของผู้ใช้งาน

“แสงในบ้านตอนกลางวันเป็นแสงธรรมชาติ แต่พอตกกลางคืนจะเป็นแสงประดิษฐ์จากหลอดไฟเข้ามาสร้างมิติให้กับบ้าน สำหรับคนออกแบบก็จะต้องเลือกวัสดุให้เหมาะสมกับแสงธรรมชาติและแสงประดิษฐ์ และถ้ามีวัสดุที่สามารถตอบสนองได้ทั้งสองแบบ ตอนกลางวันให้เป็น Feeling หนึ่ง ส่วนกลางคืนเป็นอีก Feeling หนึ่ง หากทำได้ก็จะเป็นวัสดุที่น่าสนใจมากค่ะ” คุณปานกล่าวส่งท้าย