แนวคิดอันซับซ้อนและทรงพลัง เบื้องหลังสถาปัตยกรรมแสนเรียบง่ายของปอย - ไพทยา บัญชากิติคุณ แห่ง ATOM Design

น้อยแต่มาก เรียบง่ายแต่ทรงพลัง เป็นหนึ่งในแนวทางการออกแบบของสถาปัตยกรรมที่ได้รับความนิยมมากในยุคปัจจุบัน แต่กว่าจะกลายมาเป็นผลงานแสนมินิมัลที่มีประสิทธิภาพในแง่ของ Form & Function ได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการคิดมาอย่างถี่ถ้วนและซับซ้อน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้สถาปัตยกรรมที่มีกลิ่นอายในแบบ Keep it Simple ของสถาปนิกหนุ่มอย่างปอย - ไพทยา บัญชากิติคุณ ผู้ก่อตั้ง ATOM Design สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน และข้อจำกัดด้านการบริหารจัดการได้ในขณะเดียว มาติดตามไปพร้อมกันว่าคุณปอยจะมีแนวคิดในการใช้งานฟาซาดอย่างเรียบง่าย แต่กลับเต็มไปด้วยไอเดียที่ทรงพลังในงานสถาปัตยกรรมได้อย่างไรบ้าง


“ DECAAR FACADE DECODING ”

สถาปัตยกรรมคือการออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานของพื้นที่หรือตอบโจทย์การใช้งานบางอย่าง และบ่อยครั้งที่วิธีการออกแบบของ ATOM Design มักส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอกของอาคารด้วยเช่นกัน จึงเกิดการต่อยอดแนวทางการแก้ปัญหาเหล่านั้น มาสู่การสร้างรูปลักษณ์และตัวตนภายนอกของอาคารได้อย่างตรงไปตรงมา ทำให้ผลงานส่วนใหญ่ของคุณปอยเต็มไปด้วยการปรุงแต่งภายนอกอาคารที่น้อย ลดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุด แต่กลับตอบโจทย์ความต้องการและประโยชน์การใช้สอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดเป็นงานแนวมินิมัลที่ให้ความสำคัญกับทั้ง Form และ Function

นิยามของ “Keep it Simple” ในมุมมองของคุณปอยจึงถูกนิยามออกมาด้วยคำว่าเรียบง่ายอย่างตรงไปตรงมา แต่การคิดหรือออกแบบบางสิ่งอย่างเรียบง่ายนั้น กลับต้องผ่านกระบวนการคิดที่มีความซับซ้อน มีการกลั่นกรองความคิดอย่างดีมาก เพื่อค้นหา Design Solution ที่เหมาะสม คุณปอยกล่าวเสริมถึงวิธีการทำงานของทีม ATOM Design อีกว่า ในการออกแบบงานสักชิ้นหนึ่งเขาจะเตรียมตัวเลือกไปค่อนข้างเยอะ บางโครงการเกิด Design Solution Option มากถึง 40 แบบ ให้เจ้าของโครงการและตัวสถาปนิกได้ตกผลึกร่วมกัน เพื่อให้ได้แค่ตัวเลือกเดียวที่ดีที่สุด สำหรับการแก้ไขปัญหาภายในพื้นที่ที่หนึ่ง

“ประสบการณ์ตลอดระยะเวลา 10 - 20 กว่าปีที่เราทำงานมา เราเริ่มเห็นแนวทางแล้วว่าอะไรก็ตามที่เราปรุงแต่งเยอะ ในภายหลังโครงการเหล่านั้นจะมีข้อจำกัดอื่น ๆ ตาม และอาจสร้างปัญหามากกว่าส่งผลดีครับ ในขณะเดียวกัน โครงการที่เราพัฒนารูปแบบอย่างหลากหลายจนตกผลึกอย่างดีร่วมกับเจ้าของ โครงการเหล่านี้กลับสร้างประสบความสำเร็จอย่างดีมาก ๆ ทำให้ ATOM Design ค้นพบแนวทางการออกแบบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นครับ”

หนึ่งในรูปแบบวิธีแก้ไขปัญหาที่คุณปอยมักหยิบมาออกแบบคือ Facade Solution หรือการใช้งานองค์ประกอบอย่างฟาซาดในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งเกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเติมแต่งเสน่ห์ให้กับอาคารเดิมให้กับลูกค้า เพื่อสร้างเอกลักษณ์หรือคาแรคเตอร์พิเศษ หรือการออกแบบเปลือกภายนอกของอาคารเพื่อแก้ปัญหาภายในพื้นที่อยู่อาศัย เช่น การป้องกันความร้อนจากแสงธรรมชาติ การบดบังมุมบางอย่างจากเพื่อนบ้านเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว

นอกจากความหลากหลายในการใช้งานที่ตอบสนองวิธีการ Compose Material ในรายละเอียดปลีกย่อยของสถาปัตยกรรมแล้ว วัสดุตกแต่งยังต้องตอบสนองความยั่งยืนที่ตรงกับความสนใจของคุณปอย ซึ่งต้องครอบคลุมไปถึงความยั่งยืนในเชิงพลังงาน ความยั่งยืนในเชิงการดูแลรักษา และเมื่อเกิดการรื้อถอนอาคารแล้ว วัสดุเหล่านั้นยังต้องนำไป Reuse หรือ Recycling ต่อได้อีกด้วย แถมภาพลักษณ์ที่ให้ความรู้สึกแบบ Timeless เพื่อให้อาคารยังคงทันสมัยอยู่เสมอ

แต่ถ้าหากเป็นการออกแบบตึกอาคารสูง (Skyscraper) แล้ว สถาปนิกหนุ่มมองว่าปัจจัยในเรื่องแรงลมและแสงแดดเป็นประเด็นที่สำคัญมาก วัสดุสำหรับงานฟาซาดโดยเฉพาะส่วนยอดของอาคารจึงต้องมีน้ำหนักที่เบา เพราะต้องลดภาระที่จะเกิดขึ้นจากแรงปะทะของลมกับอาคารให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับความคงทนในเชิง Elastic Quality เพราะหากไม่มีการยึดติดที่ดีแล้ว ก็จะเกิดการหลุดร่วงมาจากตัวอาคาร ซึ่งนับไปว่าเป็นปัญหาสำคัญและค่อนข้างจริงจังมาก ๆ

“เวลาที่เราพูดถึง ‘เทรนด์’ ในยุคที่การสื่อสารเปิดกว้างให้เราเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้กว้างขวางแล้ว มันน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงยิ่งขึ้น เราต้องการความหลากหลายมากยิ่งขิ้นในทุกจังหวะชีวิต ทั้งงานที่เรียบง่ายและงานแบบ High Decoration และถ้าเกิดนำคอนเซ็ปต์ Keep it Simple มาตอบคำถามนี้อย่างง่าย ๆ แล้ว ผมคิดว่างานทุกสไตล์ ถ้าเราให้ความสนใจเรื่องคุณภาพของงานออกแบบที่ดีแล้ว มันก็จะสามารถหลุดพ้นจากคำว่าเทรนด์ไปได้ครับ”