พลอย - หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ แห่ง PHTAA กับ เส้นสายแพทเทิร์นที่สร้างเอกลักษณ์ให้ทั้งภายนอกและภายในสถาปัตยกรรม

การสร้างเอกลักษณ์ให้กับสถาปัตยกรรมไม่จำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างยิ่งใหญ่หรือแปลกตาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะรายละเอียดเล็กน้อยหรือแพทเทิร์นขององค์ประกอบบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่มุมต่าง ๆ เช่น แนวผนัง ผิวเปลือกนอก แม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์ ก็สามารถทำให้สถาปัตยกรรม รวมถึงพื้นที่ภายในเกิดความโดดเด่นขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับผลงานของพลอย - หฤษฎี ลีละยุวพันธ์ อินทีเรียดีไซเนอร์และผู้ร่วมก่อตั้ง PHTAA Living Design ที่หยิบจับเอา Element แสนธรรมดา มาสร้างเป็นแพทเทิร์นที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างลึกซึ้ง พร้อมกับการสร้างบรรยากาศที่ไร้ขอบเขตระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก จนเกิดเป็นไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ในแบบ “Living with Pattern”

“ DECAAR FACADE DECODING ”

ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายเป็นสากล เรียกได้ว่าเป็นวิถีแห่งงานดีไซน์ที่สามารถสัมผัสได้จากผลงานของ PHTAA แต่เมื่อพิจารณาอย่างใกล้ชิดให้ถี่ถ้วนแล้ว ก็จะพบกับเสน่ห์ของดีเทลและแพทเทิร์นที่ซุกซ่อนตามส่วนต่าง ๆ ของอาคาร พลอยเล่าว่าเธอและผู้ร่วมก่อตั้งอีกสองคนมีความสนุกสนานและสนใจในการใช้งานแพทเทิร์นที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่งานออกแบบสเกลใหญ่อย่างสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการทำงานออกแบบสเกลเล็ก ๆ ภายในสเปซที่สอดคล้องไปกับสถาปัตยกรรมโดยรวมอีกด้วย

และการหยิบเอาแพทเทิร์นมาใช้ในงานออกแบบที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างผิวเปลือกนอกอาคาร แนวผนังกั้นภายใน หรือแม้กระทั่งเฟอร์นิเจอร์ ก็จะทำหน้าที่เป็นตัวส่งเสริมให้สเปซที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีนั้นมีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องอลังการ แต่สร้างความสวยงามควบคู่ไปกับการตอบโจทย์พฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้ใช้งานได้ ถือเป็นการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับคอนเซ็ปต์ “Living with Pattern” ในมุมมองของพลอย

เธอยก Found Wedding Venue มาเป็นตัวอย่างของวิธีการออกแบบที่เริ่มต้นจากการมองจุดเล็ก ๆ ไปยังภาพรวมของสถาปัตยกรรม เธอและทีมหยิบเอาคิ้วบัวมาเป็นแมตทิเรียลหลักก่อนจะค่อย ๆ พัฒนาและสร้างแพทเทิร์นพิเศษให้กับสเปซต่าง ๆ ของ Found Wedding Venue ไล่เรียงตั้งแต่เสาเล็ก ๆ ในห้องแต่งตัว ด้ามจับประตู พื้นผนังของทางเดินหลัก สวนด้านนอก ไปจนถึงซุ้มโค้งจุดรับส่ง ถือเป็น Experimental Approach ที่สนุกสนาน ที่สำคัญคือยังหยิบจับเอาแพทเทิร์นมาใช้งานสอดคล้องไปกับ Master Plan ที่ผ่านการวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้งานอย่างลึกซึ้ง

ฟาซาดเองก็ทำหน้าที่คล้ายกับแพทเทิร์นเหล่านั้น และมีความสำคัญไม่แพ้องค์ประกอบอื่น ๆ เลย มันไม่ได้เป็นแค่เพียงหน้ากากที่ถูกสวมให้กับอาคารเฉย ๆ แต่ยังสามารถนำมาใช้งานเพื่อตอบสนองความต้องการของสถาปนิกได้เช่นกัน เช่นการใช้แพทเทิร์นมาสร้างเป็นฟาซาด ซึ่งจะช่วยเน้นย้ำให้สถาปัตยกรรมมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน และหากนำแพทเทิร์นที่มีลักษณะคล้ายกันมาใช้ออกแบบทั้งพื้นที่ภายในและภายนอกแล้ว Boundary ที่แบ่งกั้นระหว่างสองพื้นที่ก็จะถูกทลาย เกิดสภาวะ Boundaryless ผสานให้สองพื้นที่นั้นผสานเข้าหากันอย่างแนบเนียน

เมื่อมีวิธีการใช้งานทั้งภายในและภายนอกอาคารแล้ว วัสดุตกแต่งที่ตอบสนองความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างหลากหลาย จึงกลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับพลอย นอกจากจะคงทน แข็งแรง เหมาะสมกับการใช้งานภายนอกแล้ว ยังต้องสามารถ Improvise หรือสามารถนำมาปรับใช้กับงานออกแบบสเกลเล็ก ๆ ที่ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น อย่างสเปซส่วนตัวภายในบ้าน หรือสเปซที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายนอกและภายใน รวมไปถึงนวัตกรรมที่เจริญก้าวหน้า เพราะเธอมองว่ามันจะทำให้ทุกความคิดสร้างสรรค์สามารถเกิดขึ้นจริงได้ และส่งผลให้สถาปนิกสามารถก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดด้านการผลิตไปได้

แพทเทิร์น การออกแบบฟาซาดในงานสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายในยุคใหม่สำหรับพลอยแล้ว จึงเป็นมากกว่าแค่การสร้างความสวยงามให้กับสถาปัตยกรรมผ่านการมองเห็นด้วยตาของผู้ใช้งานเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศที่น่าอยู่อาศัย ที่เกิดขึ้นจากการใช้แพทเทิร์นบนฟาซาดมาเป็นตัวเชื่อมโยงมิติของพื้นที่ นำมาสู่สมดุลแห่งการผ่อนคลาย ทั้งไลฟ์สไตล์ภายในและภายนอกอาคารได้อย่างไร้ขอบเขต