ผิวสัมผัสและความงามของธรรมชาติ ที่ซ่อนอยู่ในสถาปัตยกรรมของหม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ แห่ง Vin Varavarn Architects

ความกลมกลืนและเป็นส่วนหนึ่งไปกับธรรมชาติหรือความเป็นท้องถิ่น เป็นเอกลักษณ์ในการออกแบบของ “วิน - หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ” แห่ง Vin Varavarn Architects (VVA) จนทำให้สถาปัตยกรรมแต่ละผลงานของเขาแอบแฝงไปด้วย “Touch of Nature” ผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผิวสัมผัส ฟาซาด หรือสุนทรียภาพของสเปซที่สะท้อนกลิ่นอายของธรรมชาติออกมาได้อย่างสมดุล แล้วทำไมสถาปนิกหนุ่มคนนี้ถึงได้สนใจงานสถาปัตยกรรมในรูปแบบนี้ มาค้นหาคำตอบผ่านผลงานที่น่าสนใจของ VVA พร้อมกับการไปสำรวจถึงลักษณะของวัสดุสำหรับตกแต่งแบบไหน ที่จะเป็นคำตอบที่ใช่ในทุกโจทย์ความต้องการของคุณวิน


“ DECAAR FACADE DECODING ”

“ผมเป็นคนที่ชอบและสนใจธรรมชาติมากอยู่แล้วครับ อย่างเวลาที่เดินทางไปท่องเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ธรรมชาติที่ได้พบเห็นมักทำให้ผมรู้สึกสงบ สร้างความสดชื่นไปพร้อมกับความตื่นตาตื่นใจ ซึ่งบางครั้งมันก็มีความเชื่อมโยงไปถึงสถาปัตยกรรม ที่ให้ความสงบและตื่นตาตื่นใจในลักษณะเดียวกัน” คุณวินกล่าวถึงความรู้สึกที่ทำให้เขาสนใจและมักหยิบเอาธรรมชาติมาใช้ในงานออกแบบ

แต่ในความเหมือนกัน ก็ยังมีความแตกต่างระหว่างสถาปัตยกรรมและธรรมชาติอยู่ เพราะในมุมมองของเขาแล้ว ธรรมชาติเป็นความสวยงามที่เกิดขึ้นและเติบโตโดยที่เราไม่ได้เข้าไปควบคุมมัน ในขณะที่งานสถาปัตยกรรมกลับเป็นสิ่งที่ล้วนเกิดขึ้นมาจากการควบคุม ที่ผ่านความแม่นยำ และการวางแผนมาเป็นอย่างดี สองสิ่งนี้จึงต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่เมื่อนำมาผสมผสานเข้าด้วยกันแล้ว สัมผัสและบรรยากาศของธรรมชาติกลับสร้างอารมณ์ที่มีความพิเศษและแตกต่าง

อาคารแสนธรรมดาจึงกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่สื่อสารถึงความเป็นธรรมชาติในแง่มุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความสอดคล้อง ความกลมกลืน หรือในบางครั้งก็แสดงออกผ่านความแตกต่างด้วยเช่นเดียวกัน สอดคล้องไปกับนิยามของคำว่า Touch of Nature ในมุมมองของคุณวิน “ความเป็นธรรมชาติที่เราต้องการนำเสนอ มันก็แล้วแต่ว่าเราต้องการจะสื่อสารอะไรออกไป แต่จุดมุ่งหมายสุดท้ายของสถาปัตยกรรมเหล่านั้น มันมักจะสะท้อนให้คนที่ได้เห็น รับรู้ถึงความพิเศษและความน่าสนใจของธรรมชาติ ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดครับ”

The Pine Crest Residence เป็นหนึ่งในผลงานที่น่าสนใจ คุณวินหยิบเอาวัสดุเสมือนไม้ ที่มีผิวสัมผัสและดีไซน์ใกล้เคียงไม้จริงมากที่สุด มาใช้เป็นวัสดุตกแต่งผิวนอกของอาคารที่ถูกออกแบบให้เป็นที่อยู่อาศัยในจำนวนยูนิตน้อย เพื่อสร้างความอบอุ่นหรือบรรยากาศที่ Cozy ให้กับอาคารที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งบรรยากาศและสัมผัสที่ได้จากวัสดุเสมือนไม้ ก็สร้างความรู้สึกอบอุ่น สะท้อนความเป็นบ้าน และสร้างความกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งไปกับต้นไม้ที่ปลูกในบริเวณโดยรอบของโครงการได้อย่างแนบเนียน จนแทบไม่รู้สึกถึงสัมผัสอันแข็งทื่อของอาคารคอนกรีต

ดังนั้นวัสดุตกแต่งที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ จึงเป็นหนึ่งในลักษณะของวัสดุตกแต่งที่สถาปนิกอย่างคุณวินมองหา โดยเฉพาะวัสดุที่มีลักษณะไม่สม่ำเสมอกัน เพราะความสวยงามที่พิเศษของธรรมชาติมันมักจะมีความไม่สม่ำเสมอกันในตัวของมันอยู่เสมอ และยังต้องสามารถพลิกแผลงต่อโอกาสและแนวความคิดในการออกแบบที่หลากหลายในปัจจุบัน อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้คือความคงทน เพราะความคงทนต่อการใช้งานหรือสถาพอากาศ ยังคงเป็นปัจจัยที่วัสดุตามธรรมชาติขาดหายไป หากวัสดุสมัยใหม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ก็จะตรงกับสิ่งที่สถาปนิกกำลังมองหา ในมุมมองของคุณวิน

“งานออกแบบที่เป็นส่วนหนึ่งไปกับธรรมชาติ ผมไม่ได้มองมันเป็นเทรนด์นะ เพราะผมคิดว่าสถาปัตยกรรมมันเป็นสิ่งที่อยู่อย่างยาวนาน มีความเป็น Timeless ไม่ได้ไปเร็วมาเร็วเหมือนแฟชั่น และมันเป็นสิ่งที่ต้องอยู่คู่กัน แม้ธรรมชาติจะขาดมนุษย์ได้ แต่มนุษย์จะขาดธรรมชาติไม่ได้ ทุกวันนี้ที่ธรรมชาติกำลังลดน้อยลง และหาชมได้ยาก เราจึงโหยหาธรรมชาติกันมากขึ้น มีแนวโน้มของความต้องการที่จะอยู่ใกล้หรือสัมผัสมันมากขึ้น มันเลยเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า ในอนาคตเราจะได้พบเห็นวัสดุตกแต่งที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติในลักษณะไหน ถูกพัฒนาขึ้นใหม่เพื่อมาตอบโจทย์การใช้งานตรงจุดนี้ได้บ้าง”